การพัฒนาบทบาทและสถานภาพสตรีไทยในการก้าวสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ร่วมกับ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ในพระราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาเรื่อง นับถอยหลัง การเตรียมความพร้อมของสถานภาพบทบาทสตรีไทยสู่การก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เมื่อปลายเดือนมีนาคม ณ ห้อง 306-308 อาคารรัฐสภา 2 

                 ในการนี้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง กลไกที่ทำให้ความคิดเรื่องความเสมอภาคทางเพศเป็นแนวคิดกระแสหลักในสหภาพยุโรป และการส่งเสริมบทบาทของสตรีในประชาคมยุโรป โดย Mrs. Renate Wielputz ตำแหน่ง Member of Gender Council for EU Structural Funds, Berlin Senate for Economy, Technology and Women โดยกล่าวว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างมาก โดยดำเนินการดังต่อนี้ ตรากฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย สนับสนุนงบประมาณในโครงการกว่า 700 โครงการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขจัดความรุนแรงต่อสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในทุกด้าน นอกจากนี้เงินที่สหภาพยุโรปนำไปพัฒนาประเทศที่ยากจน ได้กำหนดหลักการที่มุ่งให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ สหภาพยุโรปยังกำหนดเป้าหมายการทำงานเพื่อส่งเสริมสถานภาพ บทบาทสตรีหลายประการ เช่น ในเยอรมนีเคยกำหนดให้ปี ค.ศ. 2010 ต้องจ้างแรงงานหญิงไม่น้อยกว่า 60 % และจะเพิ่มเป็น 75 % พยายามลดช่องว่างเงินเดือนของหญิงชายในสหภาพยุโรป ส่งเสริมให้ผู้หญิงในสหภาพยุโรปมีตำแหน่งสำคัญเพิ่มขึ้น

               คณะกรรมการสหภาพยุโรปออกคำสั่งให้บริษัทเอกชนแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ถ้าหากบริษัทเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ คณะกรรมการจะร่างคำสั่งหรือกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ส่วนประเด็นวัฒนธรรมและสถานภาพของสตรีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศอาจทำให้การทำงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายมีวิธีการแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ อาจนำความต่างนั้นมาประสานกับตลาดแรงงานเพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างกันการทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนควรให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีในระดับท้องถิ่น การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน และมีกลยุทธ์ที่ดี เช่น การนำเสนอความคิด และข้อดีของประเด็นด้านมิติหญิงชายที่มีต่อองค์กรเป็นประจำ หรือการทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารของประเทศและองค์กรอื่น ๆ การทำงานอย่างเป็นระบบ การผลักดันจากผู้บริหารทุกภาคส่วน รวมถึงระดับแรงงาน และประชาชนรากหญ้า การตรากฎหมายบังคับใช้เพื่อให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน นอกจากนี้ควรกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้น

                ในช่วงที่ 2 มีการอภิปรายเรื่อง ความสำคัญของความพร้อมในบทบาทศักยภาพและสถานภาพของสตรีไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้คือ ระบบการปกครองและนโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพสังคมที่ดี การพัฒนาให้ผู้หญิงมีศักยภาพและบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายต้องพิจารณาบริบทของผู้หญิงทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และสุขภาพของผู้หญิงและคนในครอบครัว ซึ่งหากผู้หญิงมีความมั่นคงของชีวิตในด้านต่าง ๆ แล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้หญิงมีความพร้อมที่จะพัฒนาความสามารถ บทบาท และศักยภาพของตนเองได้เท่าเทียมกับผู้ชาย นอกจากนี้การรวมกลุ่มของผู้หญิงในสังคม การจัดสถานที่ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองทั้งด้านการติดตามตรวจสอบ การให้ผู้หญิงมีบทบาทในนโยบายของรัฐ และการให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงจะมีส่วนช่วยส่งเสริมผลักดันให้ผู้หญิงได้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยจึงไม่ควรละเลยผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนไว้ข้างหลัง โดยขาดการดูแลจากภาครัฐ การพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงควรพัฒนาระบบประชาธิปไตย การศึกษา ความรู้ และการพิจารณาบริบทของผู้หญิงในแต่ละภาค   

นายจรัญ  ภักดีธนากุล  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การขับเคลื่อนทิศทางของประเทศให้ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทุกภาคส่วนต้องช่วยผลักดัน โดยไม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้หญิงทันที แต่ควรเริ่มจากสิ่งที่ผู้หญิงให้ความสำคัญ เช่น ผู้หญิงให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว และชุมชนมากกว่าปัญหาการเมือง ถ้าผู้หญิงมีความสำเร็จในเศรษฐกิจมากก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในภาคการเมืองเพิ่มขึ้น แต่ผู้หญิงก็จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับเลือก ภาครัฐและเอกชนจึงควรส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้หญิงให้ความสนใจให้สำเร็จเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความเจริญก้าวหน้าและมีศักยภาพตามที่สังคมได้คาดหวัง ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นซึ่งมีงบประมาณ 1,700 ล้านบาท ผู้หญิงจึงควรนำกองทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาบทบาทและศักยภาพของตนเองตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน และควรปกป้องไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นการใช้เงินกองทุนเพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืน

                นางกานดา  วัชราภัย ประธานคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) และอดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ACWC ให้ความสำคัญในประเด็นความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ส่งเสริมการใช้กรอบสิทธิมนุษยชนในการจัดการปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การทำงานเพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรีให้หมดไป จะช่วยเพิ่มพลังอำนาจให้ทรัพยากรมนุษย์ รัฐภาคีต้องตระหนักว่าเป็นสิทธิไม่ใช่เรื่องการกุศล และต้องรู้ว่าความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ทั้งในและนอกบ้าน มีหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืนในคู่สมรส เพศสัมพันธ์กับผู้สืบสันดาน การบังคับค้าประเวณีโดยครอบครัว ความรุนแรงต่อผู้ทำงานบ้าน การแสวงหาประโยชน์จากเด็กผู้หญิง การทำแท้งเนื่องจากการเลือกเพศ การฆ่าเด็กทารก การปฏิบัติที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมและศาสนา เช่น การตัดอวัยวะเพศหญิง ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ การคุกคามทางเพศ การข่มขืน การค้ามนุษย์ ความรุนแรงต่อแรงงานสตรีย้ายถิ่น การนำเสนอภาพลามก และความรุนแรงโดยรัฐ ความรุนแรงเนื่องมาจากภาวะสงคราม ความรุนแรงต่อผู้อพยพหรือสตรีชนกลุ่มน้อย ซึ่งความรุนแรงต่อสตรีนั้นเป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ และเสนอว่าคุ้มครองช่วยเหลือสตรีต้องเน้นการใช้วิธีการทางสิทธิมนุษยชนแทนที่จะปฏิบัติต่อสตรีเหมือนกับเหยื่อที่ต้องให้การสงเคราะห์

รัฐต้องเข้าใจรูปแบบเฉพาะของความรุนแรงต่อสตรี ต้องบังคับใช้กฎหมาย และต้องดำเนินการตามนโยบายและแผนงานต่างเพื่อลดปัญหาการกระทำละเมิดต่อสตรีและเด็ก และต้องให้ความคุ้มครองต่อผู้ถูกทำละเมิด เช่น ให้คำปรึกษา มีบ้านพักฉุกเฉิน มีการดูแลสุขภาพ การช่วยเหลือในภาวะวิกฤต การออกคำสั่งคุ้มครอง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม และการบริหารกฎหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและการให้บริการ ติดตามผลกระทบจากความรุนแรง จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555

 http://www.naewna.com/lady/columnist/1296